ก่อนอื่นทางสำนักงานกฎหมายและทนายความ SALB อยากเชิญท่านมาทำความเข้าใจกันสักนิดก่อนว่า โนตารี่ พับลิค คืออะไร หลังจากนั้นเนื้อหาในบทความนี้ จะอธิบายโดยละเอียดแบบจัดเต็มว่า มันเอาไปใช้งานอะไร และใครต้องทำการรับรอง และเข้ารับบริการได้จากเราอย่างไร..เริ่ม!!
ขออธิบายง่ายๆแบบกำปั้นทุบดินเลยนะ โนตารี่ พับลิค คือ การประทับตรารับรองเอกสารโดยเจ้าหน้าที่ที่ได้รับอนุญาตให้สามารถทำคำรับรองได้ เพื่อให้สามารถนำเอกสารที่รับรองไปใช้งานที่ต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรองลายมือชื่อหรือลายเซ็นต์ รับรองสำเนาเอกสาร รับรองคำแปล รับรองตัวบุคคลว่าตรงตามรูป รับรองที่อยู่ เป็นต้น
สั้นๆ ก็ประมาณนั้น แต่หากท่านอยากอ่านข้อมูลโดยละเอียด ก็สามารถกดอ่านได้ตามหัวข้อตรงสารบัญ หรือจะค่อยๆอ่านทั้งหมดเลยก็ได้ เพื่อให้เข้าใจอย่างท่องแท้ และไม่สับสนเวลานำไปใช้งานนั้นเอง
1.โนตารี่ พับลิค เป็นใคร มาจากไหน?
เจ้าหน้าที่ โนตารี่ พับลิค หรือภาษาอังกฤษ เขียนว่า Notary Public นั้น เป็นบุคคลที่ได้รับการอบรมและสอบผ่านเพื่อให้สามารถทำการรับรองเอกสารต่างๆ ได้ ปกติแล้วเจ้าหน้าที่โนตารี่ พับลิค จะมีอยู่ในประเทศที่เป็นสมาชิกตามสนธิสัญญาของกรุงเฮกปี ค.ศ. 1961 (Hague Convention) หรือชื่อเต็มคือ HCCH 1961 Apostille Convention นั้นเอง
โดยมีหลายประเทศได้ให้สัตยาบันและเข้าร่วมกับสนธิสัญญานี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้มีคนกลางที่เชื่อถือได้ ทำการรับรองเอกสาร และนำเอกสารไปใช้ในประเทศต่างๆได้
แต่ประเทศไทยเราไม่ได้ให้สัตยาบันและเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกตามสนธิสัญญานี้แต่อย่างใด (เออ ทำไมไม่เข้าร่วมฟะ ผ่านมาจะร้อยปีแล้ว?)
ทั้งนี้ ท่านสามารถดูรายชื่อประเทศที่เป็นสมาชิกได้ โดยการกดดูตรงนี้ : ประเทศสมาชิก Notary :
อ้าวพี่….แล้วยังงี้ประเทศไทยเรามี โนตารี่ พับลิคไหมอะ?
แม้ว่าประเทศไทยเราจะไม่ได้เป็นสมาชิกหรือภาคีตามสนธิสัญญาข้างต้นไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทางสภาทนายความในพระบรมราชูประถัมภ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญว่าการทำธุรกรรมระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย หากไม่มีบุคคลที่น่าเชื่อถือทำการรับรองเอกสารระหว่างประเทศได้ ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น การปลอมเอกสาร การปลอมลายเซ็นต์ เป็นต้น และเกิดปัญหาทางคดีและสังคมตามมา
ทางสภาทนายความ จึงได้จัดตั้งหน่วยงานภายในขึ้น เพื่อทำการฝึกอบรมทนายความในประเทศไทย และมีการทดสอบความรู้ และเมื่อสอบผ่านแล้ว ทางสภาทนายความก็จะออกใบรับรองให้ โดยเรียกผู้ผ่านการอบรมและทดสอบนี้ว่า “ทนายความผู้ทำคำรับรอง” หรือภาษาอังกฤษ เขียนว่า “Notarial Service Attorney”
สังเกตุดีๆ จะไม่ใช้คำว่า Notary Public ตรงๆ เพราะประเทศไทยเราไม่ได้เป็นสมาชิกในสนธิสัญญานั้นเอง
แล้วสรุปว่า ถ้าหน่วยงานต่างประเทศขอให้บุคคลที่ไทยไปทำการรับรองNotary แล้วเราใช้ทนายผู้ทำคำรับรอง รับรองได้ไหม?
จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนทำงานใน Law Firm มา 20 ปี และรับรองเอกสารเพื่อนำไปใช้ในต่างประเทศมาแล้วหลายประเทศ ประเทศส่วนใหญ่ยอมรับเอกสารที่ทนายความผู้ทำคำรับรอง รับรองให้ แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นภาคีหรือสมาชิกของสนธิสัญญากรุงเฮกก็ตาม เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรป ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น
แต่ถ้าจะให้ชัวร์ ให้ถามปลายทางที่จะเอาเอกสารไปยื่นเลยว่า Are you accepted Thai Notary?
ถ้าเค้า Say Yes! ก็ถือเอามาให้เรารับรองได้เลยนะค้าบบ

2.ทำไมต้องรับรองเอกสารโดยโนตารี่ พับลิค
เหตุที่ต้องรับรองเอกสารโดยโนตารี่ พับลิค ก็เพราะว่าเอกสารจะถูกนำไปใช้งานที่ต่างประเทศ แต่คนรับเอกสารที่อยู่ต่างประเทศเค้าไม่รู้ว่า คนเซ็นต์เอกสารที่ประเทศไทยนั้นเป็นคนเซ็นจริงไหม จึงต้องให้เจ้าหน้าที่โนตารี่ที่ไทยทำการรับตรวจสอบและรับรอง (กรณีรับรองลายเซ็นต์)
หรือสำเนาเอกสาร เช่น พาสปอร์ต เป็นของจริงตรงกับต้นฉบับตัวจริงไหม ปลอม หรือตัดต่อไหม จึงต้องให้ Thai Notary ทำการดูต้นฉบับ และถ่ายจากต้นฉบับ และประทับตรารับรองให้ (กรณีรับรองสำเนาเอกสาร)
หรือ คำแปลเอกสารที่ต้นฉบับเป็นภาษาไทย และต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อนำไปใช้ที่ต่างประเทศ แปลมาถูกต้องตรงกับต้นฉบับไทยไหม เพราะฝรั่งเค้าอ่านไทยไม่ออก กรณีจึงต้องให้ โนตารี่ พับลิค แปลหรือตรวจสอบคำแปล และทำการรับรองให้ (กรณีรับรองคำแปล)
การรับรองเอกสารโดยโนตารี่ พับลิค จะทำให้ผู้รับเอกสารปลายทางที่ต่างประเทศมั่นใจได้ว่า มีการเซ็นกันจริง หรือเอกสารไม่ปลอม หรือแปลถูก และสามารถดำเนินธุรกรรมต่างๆที่ต่างประเทศต่อไปได้อย่างราบรื่น
3.เอกสารที่โนตารี่ พับลิค รับรองบ่อยๆ
จากประสบการณ์ที่ทำงานมา 20 ปี เราสามารถจัดกลุ่มเอกสารที่รับรองโดยโนตารี่บ่อยๆ เกือบทุกวัน ได้ดังนี้
หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต:
กรณีที่ต้องไปทำธุรกรรมที่ต่างประเทศ แต่ไม่สามารถส่งพาสปอร์ตตัวจริงไปให้เค้าได้ เค้าก็จะให้ทาง Notary Public รับรองสำเนา ว่ามันถูกต้องตรงกับต้นฉบับนะ
แบบฟอร์มวีซ่าหรือสถานฑูต:
บางครั้งเวลาขอวีซ่า ทางสถานทูตหรือVFS ก็จะให้โหลดแบบฟอร์ม แล้วให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมเซ็นต์ แล้วให้ทาง โนตารี่ พับลิค รับรองมาด้วย เพราะเป็นเงื่อนไขในการขอวีซ่านั้นๆ
รับรองที่อยู่ของบุคคล:
กรณีนี้ส่วนใหญ่ทางต่างประเทศจะขอให้ใช้พวกบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รายการเดินบัญชีธนาคาร บิลเรียกเก็บยอดบัตรเครดิต ที่ปรากฎชื่อและที่อยู่ของบุคคล อยู่ในบิลนั้นๆ แล้วให้ทางโนตารี่ พับลิค ทำการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และรับรองชื่อและที่อยู่ของบุคคลนั้นๆ ส่วนใหญ่ที่เจอผู้มาใช้บริการจะเอาไปเปิดบัญชีธนาคารหรือจดทะเบียนบริษัทที่ต่างประเทศ
ฟอร์มรับบำนาญ:
ลูกค้าบางท่านมีสิทธิในการรับบำนาญที่ต่างประเทศ แต่ตัวตอนนี้อาศัยอยู่ที่ประเทศไทย ทุกๆ 2 ปี เค้าจะต้องปริ้นฟอร์ม เซ็นต์ และให้ทางโนตารี่ พับลิค รับรอง เพื่อเป็นการยืนยันว่ายังมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ตายไปก่อนแล้ว
พินัยกรรม:
กรณีที่ทำพินัยกรรมที่ไทย แต่ว่าทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศ ก็จะต้องนำพินัยกรรมหรือ Wills มาให้ทางโนตารี่ รับรอง เพื่อหากเสียชีวิตแล้ว สามารถนำไปใช้จัดการมรดกที่ตั้งอยู่ที่ต่างประเทศได้ต่อไป
วุฒิบัตรและทรานสคริป:
นักเรียนที่ต้องการไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็จะนำต้นฉบับวุฒิบัตรหรือทรานสคริป (ใบเกรด) มาให้ทาง โนตารี่ พับลิค รับรองว่าเป็นสำเนาถูกต้อง เพื่อนำไปสมัครเรียนที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างประเทศต่อไป

4.บริการรับรองเอกสารโดยโนตารี่ พับลิค/ Notary Public ในกรุงเทพและภูเก็ต
หลังจากที่ท่านได้ทำความเข้าใจข้อมูลด้านบนแล้ว หากท่านกำลังมองหา โนตารี่ พับลิค หรือ Notary Public เพื่อทำการรับรองเอกสารให้ สำนักงานกฎหมาย SALB ของ เรามีทนายความผู้ทำคำรับรองอยู่หลายท่านทั้งที่ใจกลางสุขุมวิท อโศก กรุงเทพมหานคร และในจังหวัดภูเก็ต ตั้งอยู่ที่ Royal Phuket Marina พร้อมให้บริการแก่ทุกท่าน

5.ระยะเวลาดำเนินงาน
เราใช้เวลาดำเนินงานรับรองเอกสารโดยโนตารี่ พับลิค ไม่นาน ประมาณ 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ท่านสามารถถือเอกสารเข้ามาที่สำนักงานและรอรับเอกสารกลับไปได้เลย
แต่หากเป็นเอกสารที่ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษก่อน ทางเราแนะนำให้ส่งหาเราทางอีเมล์ หรือLine ได้ก่อน เพื่อทำการแปล เพราะงานส่วนนี้จะใช้เวลามากน้อยขึ้นอยู่กับความยาวของเอกสาที่ต้องแปลด้วย
และเมื่อทำการรับรองแล้ว ท่านสามารถแจ้งผู้ดูแล ให้ทำการสแกนส่งเข้าเมล์ เพื่อท่านจะได้ส่งต่อให้กับหน่วยงานหรือบุคคลที่ต่างประเทศได้เลย

สรุป
โนตารี่ พับลิค หรือ Notary Public คือบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่ควบคุมดูแลให้สามารถประทับตรา ลงนามรับรองเอกสารได้
เหตุที่ต้องมารับรองก็เพราะว่าปลายทางที่นำไปใช้ ต้องการความน่าเชื่อถือของเอกสารว่ามีการเซ็นกันจริง สำเนาถูกต้องจริง แปลถูกจริง เพราะเค้าอยู่คนละประเทศกับเรา
ตัวเอกสารที่ต้องรับรองก็เช่น พาสปอร์ต แบบฟอร์ม เอกสารแปลเป็นต้น
สุดท้ายนี้ หากท่านกำลังมองหาโนตารี่ พับลิค เพื่อช่วยเหลือในการรับรองเอกสารไม่ว่าเอกสารใดๆก็ตามให้กับท่าน
ทางสำนักงานกฎหมายและทนายความ SALB เป็นผู้ดูแลงานด้านนี้มาอย่างยาวนาน
ผ่านการรับรองเอกสารมาหลายรูปแบบ
เข้าใจถึงความต้องการที่ปลายทางที่ท่านจะนำไปใช้งานเป็นอย่างดี ออฟฟิศเราทั้งกรุงเทพและสาขาภูเก็ต
ยินดีและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ดูแลให้บริการท่านต่อไป