Civil Case Meaning

มาทำความรู้จักคดีแพ่งแบบง่ายๆ กัน

ทำความรู้จักคดีแพ่ง คดีแพ่งคืออะไร

คดีแพ่งคือ คดีที่เป็นการพิพาทกันระหว่างเอกชนกับเอกชน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาระหว่างกันเอง หรือบุคคลธรรมดากับนิติบุคคล ซึ่งเป็นเรื่องในทางแพ่งที่ไม่ใช่ความรับผิดหรือข้อหาในทางอาญา

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการกระทำที่ผิดสัญญาระหว่างกัน หรือเป็นการละเมิดต่าง ๆ

โดยคดีแพ่งจะต้องย้อนไปดูข้อกฎหมายในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ใช่กฎหมายอาญา และไม่มีโทษในทางอาญา

ดังนั้นการบังคับคดีระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีและจำเลยซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดในกฎหมายแพ่งเท่านั้น

เมื่อมีคดีหรือข้อพิพาทระหว่างกันเกิดขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็จะนึกถึง “ตำรวจ” เป็นลำดับแรก ๆ เพราะคิดว่าเมื่อมีข้อพิพาททางกฎหมายก็จะต้องไปแจ้งความ

แต่ความจริงแล้วคดีแพ่งและคดีอาญามีความต่างกัน โดยเรื่องทางคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นคดีอาญา ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจจะทำสำนวน และส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องผู้ต้องหานั้นจะต้องเป็นคดีอาญา

แต่หากเป็นเรื่องในทางแพ่งหรือคดีแพ่ง คู่กรณีจะต้องดำเนินการจัดทนายความฟ้องร้องต่อศาลเอง โดยไม่เกี่ยวกับตำรวจ

ก่อนจะเริ่มดำเนินการทางคดี ต้องแยกให้ออกก่อน จะได้รู้ว่าจะเดินทางไหนนะ

2. ขั้นตอนการฟ้องคดีแพ่ง

อย่างที่บอกแล้วว่าการฟ้องคดีแพ่ง คู่กรณีจะต้องดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเอง ซึ่งจำเป็นต้องมีทนายความคอยเป็นผู้ช่วยเหลือและดำเนินการในทางศาลให้

เพราะจะต้องมีการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ประกอบการทำคำฟ้อง และจะต้องเป็นการทำคำฟ้องที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย หากเป็นการทำคำฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็อาจถูกศาลไม่รับฟ้อง หรือยกฟ้อง ทำให้เกิดความเสียหายได้

เมื่อศาลรับฟ้องคดีแพ่งแล้ว ก็จะมีการนัดวันสำหรับการพิจารณาคดี

 และเมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นศาลก็จะอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง โดยคู่ความจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ศาลได้ตัดสินนั้น

ซึ่งหากคู่ความซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการบังคับคดีต่อไป

 3. การบังคับคดีแพ่งภายหลังศาลพิพากษาและฝ่ายที่แพ้คดีไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

อ้าว..เฮ้ยยย สู้คดีในศาลมาตั้งนาน ชนะคดีแล้ว ยังไม่ได้ตังอีกเรอ?

ตอบได้เลยว่าให้ทำใจ! เพราะขั้นตอนทางกฎหมายมันเป็นแบบนี้จริงๆ

การฟ้องคดีแพ่งเมื่อสิ้นสุดในชั้นพิพากษาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้ชนะคดีจะต้องทำอย่างไรต่อไป ชนะคดีแล้วจะได้เงินที่ฟ้องเลยหรือไม่ อย่างไร เชื่อว่าน่าจะเป็นคำถามที่หลาย ๆ คนอยากรู้

ซึ่งการชนะคดีหลังฟ้องเรียบร้อยแล้ว จะมีอีกขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการต่อไป

 ไม่เช่นนั้นคุณก็จะเป็นเพียงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่อาจจะยังไม่ได้รับการชำระหนี้เลย

หากจำเลยหรือลูกหนี้เพิกเฉยก็จะไม่สามารถทำอะไรได้

ดังนั้นผู้ชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการขอศาลออกหมายบังคับคดีและร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ต่อไป

ยาวไป.. อีกเป็นปี

4. ขั้นตอนหลังศาลพิพากษาที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจะต้องดำเนินการต่อไป

ตามที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อชนะคดีแล้ว มีคำพิพากษาในมือแล้ว ลูกหนี้ยังเบี้ยว ไม่จ่ายตัง หากคุณเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง คุณจะต้องตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ดำเนินการยึดทรัพย์มาขายแล้วเอาเงินให้คุณ

เฮ้ยพี่…ผมชนะคดีแล้ว..ผมยึดเองแล้วตีใช้หนี้เลยได้ไหม มัวตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีมันไม่ทันใจอะค้าบบ

ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลย… ไม่ได้ครับ!!!

คุณต้องเริ่มอีกยกตามขั้นตอนด้านล่างนี้

ขั้นตอนที่ 1

เมื่อศาลพิพากษาแล้ว หากลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ตามที่ศาลพิพากษา เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องมีคำร้องต่อศาลขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีให้

โดยในคำร้องจะต้องเขียนคำร้องให้ศาลเห็นด้วยว่า จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมดหรือยังชำระไม่ครบถ้วน อย่างไร

ศาลจึงจะออกหมายบังคับคดีหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี” ให้ตามคำร้อง

ขั้นตอนที่ 2

เมื่อศาลออกหมายบังคับคดีให้ตามคำร้องแล้ว โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการสืบทรัพย์ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ว่ามีทรัพย์สินอะไร ที่ไหน อย่างไรบ้าง

จากนั้นจึงรวบรวมเอกสารที่แสดงว่าทรัพย์สินนั้นเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินให้

เพราะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่สามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์ของจำเลยได้เองตามกฎหมาย

แต่การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการผ่านทางเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น

TIP

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา

“หากเป็นการอายัดเงินเดือน ลูกหนี้จะต้องมีเงินเดือนเกินกว่า 20,000 บาทขึ้นไป เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงจะสามารถร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคดีอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ได้ ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนส่วนที่เกิน 20,000 บาท ของลูกหนี้ได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินยอดหนี้ตามคำพิพากษา อีกทั้งเจ้าหนี้ยังไม่สามารถขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของข้าราชการได้”

ส่วนการดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น

เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องเตรียมเอกสารที่แสดงว่าทรัพย์สินนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้อย่างไร

เช่น หากเป็นที่ดินมีโฉนดก็จะต้องดำเนินการขอคัดสำเนาโฉนดที่ดินนั้นจากเจ้าพนักงานที่ดินพร้อมรับรองเอกสาร และนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินนั้นให้ พร้อมทั้งเอกสารรายละเอียดต่าง ๆ ยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี

เมื่อพนักงานบังคับคดีตรวจสอบเอกสารและเชื่อว่าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจริง ก็จะออกเอกสารไปถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้น ๆ เพื่อแจ้งห้ามกระทำการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินนั้น

เช่น หากเป็นการยึดที่ดินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะมีหนังสือไปถึงสำนักงานที่ดิน ที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่ขอให้ระงับการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนแปลงสิทธิในที่ดินนั้น ไปยังเจ้าพนักงานที่ดินนั้น ๆ

ขั้นตอนที่ 3

เมื่อมีการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการนำทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์นั้นมาจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต่อไป

โดยการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะจัดทำบัญชี และจ่ายให้แก่เจ้าหนี้โดยเงินที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะได้รับนั้น จะต้องไม่เกินจำนวนหนี้ที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระแก่เจ้าหนี้

หากมีเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะต้องคืนเงินนั้นให้แก่จำเลย

แต่ในทางตรงกันข้ามหากเจ้าหนี้ยังได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก็ยังสามารถดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

ดังนั้นในขั้นตอนหลังศาลมีคำพิพากษาคดีแพ่งแล้ว หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายังไม่ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามคำพิพากษา ก็ยังมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่อไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา

เพราะหากไม่ดำเนินการในชั้นบังคับคดีแล้ว เจ้าหนี้ก็อาจไม่ได้รับชำระหนี้จนทำให้พ้นระยะเวลา 10 ปี ที่อาจบังคับคดีได้เช่นกัน

สรุป

คดีแพ่ง คือคดีพิพาทกันระหว่างเอกชนด้วยกัน โดยไม่มีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะตำรวจมีหน้าที่ในคดีอาญา เราไม่สามารถเอาคดีแพ่งไปแจ้งความได้

ตัวอย่างพวกคดีแพ่งก็ได้แก่ การผิดสัญญาทุกชนิด เช่น การกู้ยืม การก่อสร้าง รวมถึงการหย่าด้วย เป็นต้น

และแม้ฟ้องคดีแพ่งและชนะคดีมีคำพิพากษาแล้ว หากลูกหนี้ไม่จ่าย ก็จะไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้เองไม่ได้นะ ต้องไปตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดให้ หากยึดเองอาจผิดกฎหมายและโดนแจ้งความได้

สุดท้ายนี้ หากยังไม่มั่นใจว่าจะไปทางแพ่ง หรือทางอาญา ก็โทรหรือLine ปรึกษาเราได้เลย (แต่มีค่าบริการนะ) …จัดไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

I agree to these terms.