บริการรับว่าความคดีแพ่ง
บริการงานคดี รับว่าความคดีแพ่ง ซึ่งเป็นคดีที่เป็นการพิพาทเกี่ยวกับการบังคับตามสัญญา การขอให้ศาลสั่งให้คู่ความหรือผู้เป็นคู่กรณีกระทำการใด ไม่กระทำการใด หรืองดเว้นการกระทำใด ซึ่งผู้ที่เป็นคู่สัญญาระหว่างกันหรือคู่กรณีไม่สามารถบังคับให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามได้
ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีสัญญารองรับการฟ้องร้องหรือไม่ คุณสามารถปรึกษาทนายความที่สำนักงานของเรา เพื่อประกอบการพิจารณาในการฟ้องคดีได้ เพราะการฟ้องร้องเพื่อบังคับคดีตามคดีแพ่งนั้น ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาระหว่างคู่สัญญาเสมอไป เพราะบางคดีหรือบางข้อหา ไม่จำเป็นต้องมีสัญญาในการฟ้องร้อง เพียงแค่มีหลักฐานการตกลงกันระหว่างคู่สัญญาก็สามารถดำเนินการใช้เอกสารหลักฐานนั้น ประกอบการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ศาลสั่งให้คู่สัญญาปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำระหว่างกันไว้ได้
การเตรียมคดีแพ่งเพื่อยื่นฟ้องต่อศาล
การเตรียมคดีเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลในคดีแพ่ง มีจุดประสงค์เหมือนกันกับการเตรียมคดีเพื่อเป็นโจทก์ในคดีอาญา ซึ่งก็คือเป็นการค้นหารวบรวมข้อเท็จจริง พร้อมด้วยพยานหลักฐานเพื่อนำไปปรับกับหลักกฎหมายก่อนดำเนินการฟ้องร้องต่อศาล วิธีการที่จะได้ข้อเท็จจริงมาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย เป็นไปในทำนองเดียวกับคดีอาญาหลักการต่าง ๆ ในการเตรียมคดีอาญาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในคดีแพ่งได้
การสอบข้อเท็จจริงและหลักฐานเบื้องต้นในคดีแพ่งโดยทั่ว ๆ ไปถือหลักเกณฑ์ดังนี้ คือ
(ก)สอบจากตัวความ
(ข) สอบจากพยานบุคคลแวดล้อม และ
(ค) สอบจากพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง
นอกเหนือจากนี้สอบเพิ่มเติมในหัวข้อต่อไปนี้จะครอบคลุมเนื้อหาที่ต้องการกล่าว คือ
- ฐานะของคู่ความในคดี
- คุณสมบัติของลูกความและเขตอำนาจศาล
- ประเด็นข้อพิพาท
- การถูกโต้แย้งสิทธิ
- ขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติก่อนฟ้อง
- อายุความฟ้องคดี
- ทุนทรัพย์ที่จะฟ้อง และ
- ความประสงค์ที่จะขอศาลบังคับ
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการเริ่มต้นเพื่อตั้งเรื่องฟ้องเป็นคดีแพ่ง จะต้องปรากฎรายละเอียดและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นเสียก่อน ทนายความจึงจะสามารถดำเนินการร่างคำฟ้อง พิจารณารูปคดีและแนวทางในการฟ้องร้องหรือให้การต่อสู้คดี ดังนั้นจึงต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่กล่าวมา เพื่อให้ทราบแนวทางและข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน เพื่อให้การฟ้องร้อง/ต่อสู้คดี เป็นไปด้วยความเรียบร้อยให้ได้มากที่สุด
ฐานะของคู่ความในคดี
1) ฐานะของโจทก์
ฐานะของโจทก์ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าโจทก์รวยหรือจน แต่หมายถึงความสามารถใช้สิทธิทางศาลไม่บกพร่อง ทั้งนี้เนื่องจากผู้จะใช้สิทธิทางศาลในคดีแพ่งได้นั้นกฎหมายกำหนดว่าต้องมีสภาพเป็นบุคคล (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55) บุคคลตามกฎหมายมีอยู่ 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ดังนั้น ในการเตรียมคดีทนายความจึงต้องสอบข้อเท็จจริงให้ชัดด้วยวัตถุประสงค์จะได้รู้ว่าผู้ที่จะเป็นโจทก์นั้นมีความสามารถเพียงพอจะฟ้องคดีได้หรือไม่ ในกรณีโจทก์เป็นบุคคลธรรมดา แต่เป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ซึ่งความสามารถบกพร่อง บุคคลเหล่านี้ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณีเป็นผู้ดำเนินการแทน ถ้าไม่มีบุคคลเช่นว่านี้ก็เป็นหน้าที่ของทนายความควรดำเนินการแนะนำให้ลูกความจัดให้มีขึ้น มิฉะนั้นจะฟ้องร้องไม่ได้
กรณีโจทก์เป็นนิติบุคคล
ถ้าโจทก์เป็นนิติบุคคล เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือบริษัทจำกัด การเตรียมคดีต้องตรวจสอบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เพื่ออำนาจของกรรมการของบริษัท อำนาจของผู้จัดการว่ามีอำนาจฟ้องแทนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหรือ ไม่เพียงใด หรือถูกจำกัดอำนาจอย่างไรบ้าง เช่น กรรมการสองคนลงลายมือชื่อและต้องประทับตราบริษัทด้วยจึงจะผูกพันบริษัท เป็นต้น หากนิติบุคคลนั้นเป็นหน่วยงานตามกฎหมาย เช่น เป็นองค์การรัฐวิสาหกิจ องค์การทหารผ่านศึก ฯลฯ ต้องตรวจดูว่าใครเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีที่มอบหมาย และมีกฎหมายให้อำนาจไว้อย่างไร
2) ฐานะจำเลย
ฝ่ายจำเลยอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเช่นโจทก์ดุจกัน ดังนั้นทนายความจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเพื่อป้องกันฟ้องผิดตัว ปกติการฟ้องคดีแพ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของหนี้ เช่น บังคับให้กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด หรือให้ส่งมอบทรัพย์สิน ฯลฯ การฟ้องต้องฟ้องผู้โต้แย้งสิทธิ หากฟ้องผิดตัวก็จะเสียผลถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้ ดังนี้ เป็นต้น
ลูกความสามารถอยู่ในสถานะได้ทั้งโจทก์และจำเลย หากต้องการฟ้องร้องเพื่อบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ตกลงระหว่างกันไว้ ตามกฎหมายก็จะเรียกว่า “โจทก์” แต่หากคุณเป็นผู้ถูกฟ้องร้อง ก็จะมีฐานะเป็น “จำเลย” ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ในฐานะใดก็ตาม สำนักงานของเราสามารถดำเนินการเพื่อฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีแพ่งให้ได้ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมและยุติธรรมต่อทุกฝ่ายมากที่สุด
ขั้นตอนการฟ้องร้องคดีแพ่ง
เมื่อมีการจัดเตรียมคดีและเอกสารพร้อมข้อเท็จจริงต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการยื่นฟ้อง/ยื่นคำร้องต่อสู้คดีต่อศาล โดยสามารถแยกพิจารณาได้ ดังนี้
กรณีเป็นโจทก์ฟ้องคดี
-ทนายความจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ และยื่นฟ้องคดีต่อศาล
-ศาลรับฟ้องและกำหนดวันนัดไกล่เกลี่ย/ให้การ/สืบพยานต่อศาล ซึ่งศาลจะส่งหมายให้จำเลยทราบว่าตนเองถูกฟ้อง และกำหนดวันนัดดังกล่าวในวันใดเพื่อให้คู่ความมาศาลตามกำหนดนัด
-คู่ความไปศาลตามกำหนดนัด และเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคดี
กรณีเป็นจำเลย
-จำเลยจะได้รับหมายเรียกจากศาล ว่าตนเองถูกฟ้อง และจะมีกำหนดวันนัดให้ไปศาล ซึ่งจำเลยมีหน้าที่จะต้องยื่นคำให้การต่อศาลหลังจากได้รับหมายคำฟ้องภายใน 15 วัน เพราะหากไม่ยื่นคำให้การผลทางกฎหมายในการต่อสู้คดีก็จะเปลี่ยนไป ดังนั้นเมื่อได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การ ให้ลูกความรีบติดต่อทนายความเพื่อพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
การฟ้องร้องคดีแพ่งหรือต่อสู้คดีแพ่ง มีขั้นตอนตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวถือว่าเป็นความรู้เฉพาะด้านที่คนทั่วไปอาจไม่รู้หรือไม่เข้าใจ ดังนั้นการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดี จึงจำเป็นต้องมีทนายความเข้ามาคอยให้ความช่วยเหลือ ดังนั้นหากาพบว่าตัวเองถูกฟ้องหรือต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องคดีแพ่ง จึงควรรีบปรึกษาทนายความเพื่อดำเนินการโดยเร็วที่สุด