Criminal Case Meaning

คดีอาญาคืออะไร มีโทษแบบไหน รับมืออย่างไรเมื่อเจอกับตัวเอง

คดีอาญา คือความผิดที่มีการกำหนดลักษณะของการกระทำความผิด และบทกำหนดโทษไว้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า “ข้อหา”

โดยเมื่อมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับความผิดในทางอาญาเกิดขึ้น ผู้เสียหายสามารถเลือกได้ว่าจะดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาฟ้องต่อศาลเพื่อให้ได้รับโทษทางอาญา หรือจะเลือกให้ทนายความช่วยเหลือและดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลให้ก็ได้

ซึ่งคดีอาญาจะมีโทษทางอาญา มีความรับผิดในทางอาญา โดยมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ 5 สถานด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา คือ

1.ประหารชีวิต

2.จำคุก

3.กักขัง

4.ปรับ

5.ริบทรัพย์สิน

ซึ่งโทษทางอาญาทั้ง 5 สถานนี้จะไม่มีกำหนดไว้ในกฎหมายแพ่ง

เพราะการกระทำในทางแพ่งคู่ความจะต้องรับผิดระหว่างกันในทางแพ่งเท่านั้นจะไม่นำกฎหมายอาญาไปใช้

แต่หากเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับข้อหาทางอาญา ผู้กระทำก็จะต้องรับผิดในโทษทางอาญาทั้ง 5 สถานอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมาข้างต้น

แต่ทั้งนี้ศาลอาจพิพากษาว่าให้มีการรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษก็ได้ ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้เป็นกรณีที่ศาลได้พิจารณารูปคดีและตัดสินแล้ว เพียงรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษเท่านั้น

คดีอาญาจะต่างจากคดีแพ่งอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นการกระทำที่มีกฎหมายกำหนดหรือบัญญัติลักษณะของความผิดไว้แยกกันอย่างชัดเจน และเป็นความผิดที่รัฐให้ความคุ้มครอง

จึงสามารถดำเนินการตั้งต้นคดีด้วยการแจ้งความต่อตำรวจได้ เพราะถือว่าเป็นความผิดที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ ชีวิตหรือร่างกายของประชาชน ซึ่งถือว่าจุดนี้เป็นจุดตัดที่ทำให้คดีแพ่งและคดีอาญามีลักษณะที่แตกต่างกัน

สารบัญเนื้อหา

โดยคดีอาญาจะมี “คำ” ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ผู้ต้องหา หมายถึง บุคคลผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิด แต่ยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล
         จำเลย หมายถึง บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลแล้วโดยข้อหาว่ากระทำความผิด
         ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทน เช่น ผู้แทนนิติบุคคล ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เป็นต้น
         พนักงานอัยการ หมายถึง เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล
         พนักงานสอบสวน หมายถึง เจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ในการสอบสวน เช่น เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป

         โดยปกติคดีอาญาจะเริ่มจากการที่ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจโดยกล่าวหาว่ามีผู้กระทำผิด และการกระทำนั้นเกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย ซึ่งการกล่าวหานั้น ผู้เสียหายมีเจตนาให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ (เรียกว่า คำร้องทุกข์) เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจรับแจ้งเหตุแล้วจะสืบสวนและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานจัดทำเป็นสำนวนคดี เมื่อพนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จก็จะสรุปสำนวนการสอบสวน แล้วมีความคิดเห็นทางใดทางหนึ่งประกอบสำนวน ในบางกรณีผู้เสียหายจะเลือกฟ้องคดีต่อศาลเองโดยตรงก็ได้ หรือผู้เสียหายจะให้ทนายความช่วยเหลือในการฟ้องร้องต่อศาล โดยไม่ต้องแจ้งความต่อตำรวจและเลือกให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการในชั้นศาลตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ซึ่งไม่ผ่านการแจ้งความต่อตำรวจและการส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการเพื่อฟ้องคดีต่อศาลก็ได้

การประกันตัวในชั้นศาลมี 2 ช่วง

ช่วงแรก เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวผู้ต้องหามาขอฝากขังต่อศาลและศาลอนุญาตให้ขัง ซึ่งถือว่าผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจควบคุมของศาลแล้ว ช่วงที่สอง ช่วงที่ศาลประทับฟ้องของโจทก์ ผู้ต้องหามีสถานะเป็นจำเลยซึ่งต้องถูกควบคุมตัวอยู่ในอำนาจของศาล

        ดังนั้น หากผู้ประกันประสงค์จะขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา หรือ จำเลยก็จะต้องยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณา แล้วแต่กรณี

กำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตให้ประกัน ดังนี้

ชั้นสอบสวน มีกำหนดเวลาเท่ากับระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ฝากขังจนกระทั่งมีการฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี ชั้นพิจารณาของศาล สัญญาประกันใช้ได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวโดยศาล ผู้ประกันสามารยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หลักประกัน คือ การใช้หลักทรัพย์เป็นประกัน หรือ การใช้บุคคลเป็นประกัน

กรณีทนายความฟ้องร้องต่อศาล

หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายเลือกให้ทนายความดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลให้นั้น ก็จะไม่มีกระบวนการส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องต่อศาลให้ ซึ่งเป็นการตั้งต้นคดีโดยเริ่มต้นและสิ้นสุดกระบวนการโดยทนายความเท่านั้น ซึ่งทนายความจะคอยช่วยเหลือและดูแลตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมเอกสารทุกอย่างที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานให้ ไปจนถึงการดำเนินการในชั้นศาลต่าง ๆ ซึ่งเริ่มต้นจากการทำคำฟ้องเพื่อยื่นต่อศาล

เมื่อมีการยื่นคำฟ้องต่อศาลแล้ว ขั้นตอนแรกก่อนที่ศาลจะประทับรับฟ้องนั้น จะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ศาลจะพิจารณาในเบื้องต้นว่าคดีนี้มีมูลจริงเท็จหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร โดยเมื่อทนายความยื่นคำฟ้องต่อศาล ศาลจะกำหนดวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันไต่สวนมูลฟ้องนี้จำเลยจะมาศาลหรือไม่ก็ได้

เมื่อมีการไต่สวนมูลฟ้องเสร็จและศาลเห็นว่าคดีมีมูล ศาลจึงจะประทับรับฟ้อง และเมื่อมีการรับฟ้องเรียบร้อย ศาลก็จะกำหนดวันเพื่อพิจารณา ในวันนั้นเองที่คู่ความจะต้องไปศาลเพื่อการพิจารณา แต่ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์อาจมอบอำนาจให้ทนายความไปศาลแทนตนเองก็ได้

ดังนั้นในคดีอาญาหากผู้เสียหายต้องการความรวดเร็วและต้องการดำเนินการฟ้องผู้ต้องหาเอง ก็สามารถเลือกจ้างให้ทนายความดำเนินการตั้งแต่ต้นให้ก็ได้ ซึ่งความผิดในทางอาญานี้นอกจากจะเป็นการฟ้องลงโทษ เพื่อต้องการนำตัวผู้ต้องหามารับผิดให้ได้แล้ว ผู้เสียหายหรือโจทก์ยังอาจเรียก “ค่าเสียหาย” ในบางกรณีได้ด้วย โดยจะเรียกค่าเสียหายได้เท่าไร หรือไม่ อย่างไร สามารถปรึกษากับทนายก่อนดำเนินการฟ้องร้องได้ เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับความยุติธรรมมากที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *